307
อบต.คลองพา สนับสนุนให้เกิดการเลิกบุหรี่ เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก World No Tobacco Day (31 พฤษภาคม วันงดสูบบุหรี่โลก)
เชิญชวนคนไทยที่สูบบุหรี่ ใช้โอกาสที่โควิด - 19 ระบาดหนักนี้ มุ่งมั่นที่จะเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมปีนี้คือ Commit to quit หรือ มุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ได้กำหนดเป็นคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2564 ไว้ว่า “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” นั่นก็เพราะว่า ปัจจุบันนานาประเทศประสบปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเชื้อจะทำลายปอด ทำให้ปอดอักเสบรุนแรงการสูบบุหรี่ จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายปอดและเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้อาการของผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทรุดหนักได้ นอกจากนั้น มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ และเพิ่มการเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่จะช่วยลดการบริโภคยาสูบในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ
วันงดสูบบุหรี่โลก เริ่มมีการจัดงานครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 เนื่องจากองค์การอนามัยโลกเล็งเห็นอันตรายของบุหรี่และสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่ไม่สูบแต่ต้องมารับควันบุหรี่ด้วย จึงจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า World No Tobacco Day เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เลิกสูบ และให้รัฐบาลชุมชนและประชากรโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม อีกทั้งยังได้ประกาศให้มีการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่ใช้ชื่อว่า World Spidemic ซึ่งสื่อถึงการสูบบุหรี่ที่เป็นเหมือนโรคระบาดที่ระบาดอยู่ทั่วโลก โดยในวันงดสูบบุหรี่โลกในแต่ละปี ก็จะมีคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลกที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ได้ตระหนักถึงความสูญเสียทางด้านชีวิตของประชากรที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงได้มีการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆ โดยการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพยายามให้เกิดการเลิกสูบบุหรี่ ดังเช่นที่กระทรวงได้ประกาศบังคับใช้มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ให้มีการพิมพ์คำเตือน และโทษของการสูบบุหรี่ที่ข้างซอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีกฎหมายที่ใช้คุ้มครองสุขภาพประชาชน ได้แก่
1. พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ที่มีสาระสำคัญในการประกาศเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งแบ่งเขตปลอดบุหรี่ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
- เขตปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง เช่น รถยนต์โดยสารประจำทาง ทั้งแบบปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ รวมถึงแท็กซี่ ตู้รถไฟปรับอากาศ และห้องชมมหรสพ
- เขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เช่น โรงเรียน ห้องสมุด แต่ยกเว้นห้องส่วนตัว
- เขตปลอดบุหรี่เกือบทั้งหมด เช่น สถานพยาบาล ศูนย์การค้า สถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ หากจะสูบก็ให้สูบเฉพาะในเขตสูบบุหรี่
- เขตปลอดบุหรี่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพื้นที่นั้น ๆ เช่น ตู้รถไฟโดยสารทั่วไปที่ไม่ใช่แบบปรับอากาศ และร้านขายอาหารทั่ว ๆ ไป เฉพาะบริเวณที่มีระบบปรับอากาศ แต่ต้องจัดเขตสูบบุหรี่ไม่ให้เกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด
2. พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีสาระสำคัญในการห้ามขายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงห้ามขายสินค้าอื่นและแถมบุหรี่ให้ หรือขายบุหรี่แล้วแถมสินค้าอื่น และห้ามการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม
โทษของบุหรี่
การสูบบุหรี่นั้นถือเป็นการทำลายสุขภาพ ทั้งต่อผู้สูบเองและผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็ง ไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด ซึ่งสารอันตรายที่สำคัญ
ผู้ที่สูบบุหรี่ยังเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ อาจมีอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอถี่จนไม่สามารถนอนได้ นอกจากนี้ทาร์ในควันบุหรี่จะสะสมอยู่ในปอดจะทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ทำให้หายใจขัด หอบ และหากเป็นเรื้อรังอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ง่ายเช่นเดียวกัน
นอกจากนั้นยังพบว่าการสูบบุหรี่ ก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่นโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล โรคความดันเลือดสูง โรคตับแข็ง โรคปริทนต์ โรคโพรงกระดูกอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัวใจ เป็นต้น และยังส่งผลต่อบุคลิกภาพของผู้สูบบุหรี่อีกด้วย
ข้อมูล : กลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายและการสื่อสาร สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค